เมื่อวันก่อนดิฉันเดินผ่านไปเห็นสาวน้อยน้องนางบ้านนาหน้าตาดีคนหนึ่ง ยืนจ้องป้ายประกาศรับสมัครงานแปะไว้ที่หน้าห้องแถว “รับเด็กล้างจาน 1 ตำแหน่ง” ที่ให้ค่าตอบแทนต่ำมาก ชนิดซื้อรองเท้าสวยๆ ซักคู่ยังแทบไม่ได้เลย เธอจดจ่ออยู่กับการจดเบอร์โทรศัพท์ติดต่ออย่างตั้งอกตั้งใจเหมือนอยากจะได้งานนี้เป็นอย่างมาก ดิฉันแอบนึกสงสัย….

”ล้างจานได้เงินแค่เนี้ยนี่อ่ะนะ จะพอกินมั๊ยหนูเอ๊ยยย?”

คนตีค่าของเงินที่ตรงไหน?

ถ้าจะให้ดิฉันเดา…คงตีราคาตามต้นทุนชีวิตของพวกเขาในแต่ละคนต่อหน่วยเวลา บ้านเช่า ข้าวซื้อ ไหนจะค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอินเตอร์เน็ต ยิ่งพวกสาว High Maintenance ค่าดูแลรักษาสูงทั้งหลาย สระผมเองไม่เป็น ทำเล็บเองไม่เป็น วิ่งตาม Trend ใครมีอะไรมีด้วย ใครใช้อะไรใช้ด้วย เอาตัวอิง Brand เพื่อสร้าง Identity ให้ตัวเอง กลุ่มสาวพวกนี้ “เงิน” จะมีค่ากับพวกเธอมาก เห็นตัวอย่างมาหลากหลาย บางคนมีหน้าที่การงานและตำแหน่งดี ได้เงินเดือนสูงๆ คอยรักษาไลฟ์สไตล์ในรูปแบบ Roof Top ที่พวกเธอชอบ จะมีผู้หญิงส่วนใหญ่ในระดับกลางถูกกดดันอยู่ในระหว่างสังคมบนที่อยากจะเป็น และ สังคมล่างที่วิ่งหนี พวกเธอเป็นสาวออฟฟิศธรรมดาๆ แต่ทนต้านแรงอิทธิพลลัทธิ “Consumptionism” ในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalisation) ไว้ไม่ได้ เธอจึงดูเหมือนจะพยายามโยนลูกบอลสามสี่ลูกขี้นบนอากาศ รับลูกนี้ โยนลูกนั้น อย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อตอบสนองความอยากทางด้านวัตถุ โดยหวังว่าตนนั้นจะเก่งพอที่จะไม่พลาดทำลูกบอลใดลูกหนึ่งตกพื้น

พอนึกย้อนกลับมาถึงน้องนางบ้านนาคนนั้น เงินจากงานล้างจานที่เธอดูเหมือนกระตือรืนร้นอยากจะได้ เพียงแค่พออยู่พอใช้ (งานนี้กินฟรีอยู่ฟรีตามป้ายที่บอกค่ะ) แถมอาจจะพอมีเหลือส่งกลับไปเลี้ยงพ่อแม่ที่บ้านนอกได้อีกเสียด้วยซ้ำ ดิฉันมันพวกชอบคิดต่างและมองหาสิ่งดีๆ ในโอกาสเสมอ จึงคิดไปว่า ทำไมเราไม่มองไปที่คุณค่าของงานที่ได้ทำ?

ค่าของ “งาน”

ไม่แปลกหากปกติชนคนทั่วไปจะคิดว่า “งานคือเงิน…เงินคืองานบันดาลสุข” แต่จะมีใครบ้างที่มองมุมกลับและคิดว่า “งาน” คือ แต้มคะแนนที่เราสะสมในเกมชีวิตชั่วชีวิต บางครั้งได้เป็นเงินไปแลกข้าวกินได้ บ้างเอาไปช่วยเหลือเกื้อกูลคนในครอบครัว บ้างเป็นเหรียญแห่งความอิ่มเอมใจที่ได้ทำ บ้างเป็นสายสะพายแห่งความท้าทาย งานบางงานดูเหมือนชั้นต่ำให้ค่าตอบแทนห่วยๆ เหมือนงานล้างจ้างที่กำลังพูดถึง แต่นั่นอาจเป็นคะแนนความกตัญญูของเด็กหญิงภูธรคนหนึ่งที่เข้ากรุงมุ่งมาหาโอกาสชีวิต เพื่อแบ่งปันจุนเจือให้ครอบครัวของเธอ

อีกมุมกลับ…ดิฉันได้ยินเพื่อนสาวบางคนได้เงินเดือนหลักแสน แต่ไม่มีความสุขกับงานที่เธอทำ คอยวิ่งมองหางานใหม่ที่ตำแหน่งดีกว่า จ่ายมากกว่า ที่นู่นที่นี่ เพื่อเธอจะสามารถนำเงินที่ได้นั้นมาจ่ายค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จ่ายค่าบัตรเครดิต ถอยกระเป๋ารองเท้าใหม่ทุกเดือน กินหรูทุกมื้อ งานค่าตอบแทนสูงที่เธอกำลังทำอยู่ดูเหมือนยังไม่มีค่าพอในสายตา

เมื่องานไม่ใช่เงิน เงินไม่ใช่งานเสมอไป

คุณค่า (Values) สำคัญๆ ในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล ที่จะเลือกเรียงลำดับก่อนหลังตามที่ตนให้ความสำคัญ ดิฉันเคยถามตัวเองว่า คุณค่าที่สำคัญที่สุดในการมีชีวิตอยู่ของเราคืออะไร? คำตอบคือ “อิสรภาพ” อิสระเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิต ในการเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ในการที่จะทำตามใจปรารถนา ซึ่งคำตอบในใจของแต่ละคนล้วนต่างกัน การนำเอาคุณค่าบางอย่างที่สำคัญไปให้เงินตัดสินเพียงอย่างเดียว จะทำให้เราตกเป็นทาสของเงินตราไปตลอดชีวิต หาได้เท่าไหร่ดูเหมือนจะไม่พอ เพราะความต้องการ อยากนั่นอยากนี่มีไม่สิ้นสุด

ใครจะรู้บ้างว่า สมัยโบราณเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว มนุษย์เราเคยใช้ “ขี้ค้างคาว” (Bat Guano) แทนเงินในการแลกเปลี่ยนซื้อสินค้ามาก่อน เพราะ ขี้ค้างคาวสมัยนั้นใช้เป็นปุ๋ยในการเกษตรได้เป็นอย่างดีเยี่ยม ขี้ค้างคาวจึงเคยมีค่าเป็นเงินตรากับมนุษยโลกเพราะคุณประโยชน์ที่มีให้ เงินค่าจ้างอันต่ำต้อยน้อยค่าอาจดูไร้ความหมายสำหรับคนต้นทุนชีวิตสูง เพราะความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ยืนแกว่งแขวนตัวอยู่ในจุดเสี่ยง แต่มันอาจเป็น Token สำคัญสำหรับใครบางคนในอีกความหมายหนึ่ง ที่ดำรงชีวิตเรียบง่าย พอเพียง ที่คนไม่รู้จักพออาจจะไม่เข้าใจ