“เจ๊ เจ๊ เจ๊ เอาส้มตำปูปลาร้า หรือปูม้าอย่างเดียว”
“น้า น้า ช่วยเขยิ่บเข้าข้างในหน่อยครับผม”

ให้ตายสิ…ดิฉันแอบเคืองๆ คันๆ ไม่ได้เมื่อถูกเรียกด้วยสรรพนามไม่พึงประสงค์บ่งบอกอายุกันแบบไม่เกรงใจ และลำบากใจกับการเลือกใช้คำสรรพนามเรียกชื่อตัวเอง เรียกคนอื่นที่กำลังสนทนาด้วยเป็นยิ่งนัก เมื่อก่อนตอนเด็กๆ พูดกับพ่อกับแม่ กับครูบาอาจารย์เรียกตัวเองว่า “หนู” ก็ดูน่ารักน่าเอ็นดูดี พูดกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเรียกกันว่า “เธอกับฉัน” แอบๆ ใช้ภาษาพ่อขุนกับอยู่บ้าง เรียกคนอื่นทั่วๆ ไปก็ไล่อายุกันไป “พี่ ป้า น้า อา ตา ยาย” ก็ดูอบอุ่นตามวัฒนธรรมเครือญาติของไทย แต่ครั้นเรียนหนังสือจบ ทำงานเป็นผู้ใหญ่ ผ่านเลยวัยเบญจเพศมาสองสามไฟแดง เอาสิ…ไปไหนมาไหน ชักมีแต่คนเรียก “พี่” สังคมก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะต้องพบปะปฏิสันถารกับคนด้วยหน้าที่การงาน แล้วคราวนี้ดิฉันจะใช้คำสรรพนามอะไรดีจึงจะเหมาะสม?
สังคมนับญาติ

สังคมไทยมีวัฒนธรรมนับญาติ (ทั้งที่ไม่ใช่ญาติ) มาเนิ่นนานในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีรากฐานมาจากการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเสมือนหนึ่งญาติมิตร ในสังคมตะวันตกก็มีการนับพี่นับน้อง (Brotherhood) เช่นกัน แต่ไม่ชัดเจนเท่ากับสังคมของไทยเรา เวลาไปตลาดซื้อของ เรียกกันพี่กันน้องก็รับกันได้ แม้คนขายบางเจ้ามันหน้าแก่กว่าซะอีกแต่ดันมาเรียกกันว่า “พี่” ก็ยอมๆ กันไป

ปัจจุบันธุรกิจในบ้านเรา แข่งกันเพิ่มมูลค่า หาความแตกต่าง ฝึกพนักงานแถวหน้าของตนสร้างความประทับให้กับผู้เข้ามาใช้บริการ ตั้งแต่ยกมือไหว้ลูกค้าอย่างนอบน้อม กล่าวสวัสดีคะขา ใช้มธุรสวาจากันมากขึ้น
สรรพนามที่ใช้เรียกแบ่งตามบทบาทกันไป เช่น “ลูกค้า” “คนไข้” “ผู้โดยสาร” หรือเรียกกันว่า “คุณผู้หญิง” หรือ “คุณผู้ชาย” ก็สุภาพดี จะเห็นได้ว่า สังคมยุค Modern Family มีการเว้นช่องว่างความสนิทสนมกับคนนอกบ้านไว้พอประมาณ จริงๆ ฟังดูเป็นการให้เกียรติผู้ใช้บริการมากขึ้นโดยไม่ตีตัวสนิทสนมจนเกินควร

ผู้ชายง่ายกว่าผู้หญิง

ผู้ชายผูกขาดคำว่า “ผม” มาตั้งแต่วัยเด็กจนโต และยังคงใช้ได้กับทุกสถานะการณ์และกับทุกคู่สนทนาอย่างมีความเป็นสุภาพชน แต่ก่อนดิฉันเป็นคนชอบแอบหักคะแนนผู้ชายที่ชอบเรียกแทนตัวเองด้วยชื่อ “อ๊อดอย่างนั้น” “อ้นอย่างนี้” “หมีอย่างโน้น” สาวบางคนอาจจะชอบและบอกว่าฟังดูอ้อนๆ ดีออก แต่ไม่ค่ะ…ต้องไม่ใช้เวลาออกเดทกับสาวใหม่ๆ มันต้อง Man up! โชว์ความเป็นสุภาพบุรุษลูกผู้ชายให้เกิดความประทับใจกันก่อน

การเลือกสรรพนามเรียกชื่อตัวเองของผู้หญิงค่อนข้างจะ tricky เพราะมีระดับความละเอียดอ่อนอยู่ในความเหมาะสมในแต่ละสถานะการณ์และผู้ร่วมสนทนาแยกแยะกันออกไป เริ่มจาก…หนู น้อง หรือเรียกแทนตัวเองด้วยชื่อเล่นที่คนมักนิยมใช้กัน

คนที่เรียกแทนตัวเองว่า “หนู” แสดงตัวตนต่อคู่สนทนาในลักษณะที่ด้อยกว่าทางสถานะภาพ หรือด้วยความอาวุโส เพื่อแสดงความเคารพต่อคู่สนทนา ในทางกลับกัน สามารถทำให้คู่สนทนารู้สึกดีมีอำนาจเหนือกว่า เป็นจิตวิทยาช่วยฉีดอีโก้ตัวหนึ่งให้งานบริการบางอย่างได้เหมือนกัน

ผู้หญิงส่วนมากมักเรียกแทนตัวเองด้วยชื่อเล่น “เจี๊ยบอย่างนี้” “จุ๋มอย่างนั้น” “จิ๋มอย่างโน้น” แต่หากคุณต้องไป Luncheon สนทนาภาษาธุรกิจล่ะ มันสมควรแล้วหรือ??? ดิฉันกระดากปากมาก เลยเลี่ยงมาใช้ชื่อจริงของตัวเองเรียกแทนตัวเองมันซะเลยเวลาติดต่อธุรกิจ สามพยางค์ง่ายๆ ไม่น่าเกลียด (แต่ถ้าชื่อยาวๆ อย่าง กชนีย์ศรีนพรัตน์ คงไม่ไหว) มีลูกค้าหนุ่มบริษัทข้ามชาติคนหนึ่งแอบมากระซิบบอกภายหลังว่า “ผมชอบที่คุณเรียกชื่อตัวเองด้วยชื่อจริง..ไม่ใช่ชื่อเล่น” เลยเป็นข้อยืนยันให้ดิฉันเรียกแทนตัวเองแบบนั้นเรื่อยมา

“ฉัน” vs “ดิฉัน”

“ฉัน” ที่เราพากันออกเสียงว่า “ชั้น” ดูเหมือนจะกลายเป็นสรรพนามเรียกชื่อที่มีดีกรีความสุภาพลดลงคุณว่ามั๊ย? ฟังดูจะกร่างๆ ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ใช้กับการติดต่อธุรกิจแทบจะไม่ได้เลย ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมาเป็นคำว่า “ดิฉัน” ระดับการสื่อสารมันจะดู sophisticate ,มากขึ้น แต่ดิฉันโดนวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนสาวบ่อยๆ ว่ามันฟังดูดัดจริตและเป็นทางการเกินไป แต่ดิฉันว่า มันเหมาะสมที่สุดและสุภาพที่สุดแล้วที่จะเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 สำหรับผู้หญิงที่ใช้ในการติดต่อการงานกับผู้คนทั่วไปที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

ดูตาม้าตาเรือก่อนนับญาติใคร

จากประสบการณ์ที่ขุ่นเคืองดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องของดิฉันเมื่อครั้งโดนเรียกว่า “น้อง” ในขณะโทรศัพท์ติดต่อจองโรงแรมที่ต่างจังหวัดโรงแรมหนึ่ง เดาว่าเสียงดิฉันเด็กกว่าหน้า แต่เอ…นี่หล่อนเป็นพนักงานของโรงแรมควรเรียกแขกที่จะจองโรงแรมว่า “คุณ หรือ “พี่” ถ้าจะตีซี้กันจะเหมาะกว่าจริงมั๊ย? ดิฉันถามชื่อคนรับโทรศัพท์วันนั้นไว้

เมื่อเดินทางไปถึงพบว่า โรงแรมนี้ไม่ใช่โรงแรมภูธรประจำจังหวัดอย่างที่คิดเลยนะคุณ ภายในล็อบบี้มีการตกแต่งประดับประดาด้วยปูนปั้น และกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมยุโรป งานศิลป์ที่ผนังข้างฝาได้ถูกเลือกสรรอย่างมีรสนิยมอย่างดีทีเดียว ในขณะรอเช็คอิน ดิฉันรีบถามหาพนักงานคนที่รับโทรศัพท์ในวันนั้น ปรากฏว่า เธอคือคนที่เคาเตอร์นั่นแหละ แต่…เธอไม่ใช่พนักงานค่ะ เธอเป็นเจ้าของโรงแรมค่ะคุณขา! ดูเหมือนเธอจะไม่ยอมหยุดเรียกดิฉันว่า “น้อง” แม้เห็นตัวเป็นๆ กันแล้วก็จริง ดิฉันไม่ยอมให้ความขุ่นมัวอยู่ในใจนานๆ เสียสุขภาพจิตเพราะดูจากหน้าตาเธอไม่น่าจะแก่กว่า จึงยอมเสียมารยาทถามอายุเธอไป ปรากฏว่าเราอายุเท่ากันค่ะ จะคิดให้บวกคือเธอชมกันว่าหน้าเด็ก แต่นี่เป็นการติดต่อกันฉันธุรกิจระหว่างโรงแรมกับแขกผู้มาพัก มานับญาติเรียกกันว่า “น้องๆๆๆ” ไม่ขาดปากแบบนี้ดิฉันว่า มันไม่สมควรและไม่เป็นมืออาชีพ!!!

ด้วยเพราะภาษาไทยไม่ได้มีแค่ I กับ You การเลือกบุรุษสรรพนาม (Personal Pronoun) จึงควรให้เหมาะสมกับบทบาท สมเพศ สมวัย ถูกใจผู้ฟัง ใช้เป็นยาหอมซ่อนศิลปะในการสื่อสารให้กับการสนทนาให้ระรื่นหู นำไปสู่ประตูความสำเร็จในการเจรจาต่อรองใดๆ เลือกใช้กันให้เป็นกันนะคะ เพราะ ปากเป็นเอก เสกเสน่ห์ให้ตัวเองได้เสมอ