ภาษาไทยไม่ได้มีแค่ I กับ You

“เจ๊ เจ๊ เจ๊ เอาส้มตำปูปลาร้า หรือปูม้าอย่างเดียว”
“น้า น้า ช่วยเขยิ่บเข้าข้างในหน่อยครับผม”

ให้ตายสิ…ดิฉันแอบเคืองๆ คันๆ ไม่ได้เมื่อถูกเรียกด้วยสรรพนามไม่พึงประสงค์บ่งบอกอายุกันแบบไม่เกรงใจ และลำบากใจกับการเลือกใช้คำสรรพนามเรียกชื่อตัวเอง เรียกคนอื่นที่กำลังสนทนาด้วยเป็นยิ่งนัก เมื่อก่อนตอนเด็กๆ พูดกับพ่อกับแม่ กับครูบาอาจารย์เรียกตัวเองว่า “หนู” ก็ดูน่ารักน่าเอ็นดูดี พูดกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเรียกกันว่า “เธอกับฉัน” แอบๆ ใช้ภาษาพ่อขุนกับอยู่บ้าง เรียกคนอื่นทั่วๆ ไปก็ไล่อายุกันไป “พี่ ป้า น้า อา ตา ยาย” ก็ดูอบอุ่นตามวัฒนธรรมเครือญาติของไทย แต่ครั้นเรียนหนังสือจบ ทำงานเป็นผู้ใหญ่ ผ่านเลยวัยเบญจเพศมาสองสามไฟแดง เอาสิ…ไปไหนมาไหน ชักมีแต่คนเรียก “พี่” สังคมก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะต้องพบปะปฏิสันถารกับคนด้วยหน้าที่การงาน แล้วคราวนี้ดิฉันจะใช้คำสรรพนามอะไรดีจึงจะเหมาะสม?
สังคมนับญาติ

สังคมไทยมีวัฒนธรรมนับญาติ (ทั้งที่ไม่ใช่ญาติ) มาเนิ่นนานในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีรากฐานมาจากการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเสมือนหนึ่งญาติมิตร ในสังคมตะวันตกก็มีการนับพี่นับน้อง (Brotherhood) เช่นกัน แต่ไม่ชัดเจนเท่ากับสังคมของไทยเรา เวลาไปตลาดซื้อของ เรียกกันพี่กันน้องก็รับกันได้ แม้คนขายบางเจ้ามันหน้าแก่กว่าซะอีกแต่ดันมาเรียกกันว่า “พี่” ก็ยอมๆ กันไป

ปัจจุบันธุรกิจในบ้านเรา แข่งกันเพิ่มมูลค่า หาความแตกต่าง ฝึกพนักงานแถวหน้าของตนสร้างความประทับให้กับผู้เข้ามาใช้บริการ ตั้งแต่ยกมือไหว้ลูกค้าอย่างนอบน้อม กล่าวสวัสดีคะขา ใช้มธุรสวาจากันมากขึ้น
สรรพนามที่ใช้เรียกแบ่งตามบทบาทกันไป เช่น “ลูกค้า” “คนไข้” “ผู้โดยสาร” หรือเรียกกันว่า “คุณผู้หญิง” หรือ “คุณผู้ชาย” ก็สุภาพดี จะเห็นได้ว่า สังคมยุค Modern Family มีการเว้นช่องว่างความสนิทสนมกับคนนอกบ้านไว้พอประมาณ จริงๆ ฟังดูเป็นการให้เกียรติผู้ใช้บริการมากขึ้นโดยไม่ตีตัวสนิทสนมจนเกินควร

ผู้ชายง่ายกว่าผู้หญิง

ผู้ชายผูกขาดคำว่า “ผม” มาตั้งแต่วัยเด็กจนโต และยังคงใช้ได้กับทุกสถานะการณ์และกับทุกคู่สนทนาอย่างมีความเป็นสุภาพชน แต่ก่อนดิฉันเป็นคนชอบแอบหักคะแนนผู้ชายที่ชอบเรียกแทนตัวเองด้วยชื่อ “อ๊อดอย่างนั้น” “อ้นอย่างนี้” “หมีอย่างโน้น” สาวบางคนอาจจะชอบและบอกว่าฟังดูอ้อนๆ ดีออก แต่ไม่ค่ะ…ต้องไม่ใช้เวลาออกเดทกับสาวใหม่ๆ มันต้อง Man up! โชว์ความเป็นสุภาพบุรุษลูกผู้ชายให้เกิดความประทับใจกันก่อน

การเลือกสรรพนามเรียกชื่อตัวเองของผู้หญิงค่อนข้างจะ tricky เพราะมีระดับความละเอียดอ่อนอยู่ในความเหมาะสมในแต่ละสถานะการณ์และผู้ร่วมสนทนาแยกแยะกันออกไป เริ่มจาก…หนู น้อง หรือเรียกแทนตัวเองด้วยชื่อเล่นที่คนมักนิยมใช้กัน

คนที่เรียกแทนตัวเองว่า “หนู” แสดงตัวตนต่อคู่สนทนาในลักษณะที่ด้อยกว่าทางสถานะภาพ หรือด้วยความอาวุโส เพื่อแสดงความเคารพต่อคู่สนทนา ในทางกลับกัน สามารถทำให้คู่สนทนารู้สึกดีมีอำนาจเหนือกว่า เป็นจิตวิทยาช่วยฉีดอีโก้ตัวหนึ่งให้งานบริการบางอย่างได้เหมือนกัน

ผู้หญิงส่วนมากมักเรียกแทนตัวเองด้วยชื่อเล่น “เจี๊ยบอย่างนี้” “จุ๋มอย่างนั้น” “จิ๋มอย่างโน้น” แต่หากคุณต้องไป Luncheon สนทนาภาษาธุรกิจล่ะ มันสมควรแล้วหรือ??? ดิฉันกระดากปากมาก เลยเลี่ยงมาใช้ชื่อจริงของตัวเองเรียกแทนตัวเองมันซะเลยเวลาติดต่อธุรกิจ สามพยางค์ง่ายๆ ไม่น่าเกลียด (แต่ถ้าชื่อยาวๆ อย่าง กชนีย์ศรีนพรัตน์ คงไม่ไหว) มีลูกค้าหนุ่มบริษัทข้ามชาติคนหนึ่งแอบมากระซิบบอกภายหลังว่า “ผมชอบที่คุณเรียกชื่อตัวเองด้วยชื่อจริง..ไม่ใช่ชื่อเล่น” เลยเป็นข้อยืนยันให้ดิฉันเรียกแทนตัวเองแบบนั้นเรื่อยมา

“ฉัน” vs “ดิฉัน”

“ฉัน” ที่เราพากันออกเสียงว่า “ชั้น” ดูเหมือนจะกลายเป็นสรรพนามเรียกชื่อที่มีดีกรีความสุภาพลดลงคุณว่ามั๊ย? ฟังดูจะกร่างๆ ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ใช้กับการติดต่อธุรกิจแทบจะไม่ได้เลย ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมาเป็นคำว่า “ดิฉัน” ระดับการสื่อสารมันจะดู sophisticate ,มากขึ้น แต่ดิฉันโดนวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนสาวบ่อยๆ ว่ามันฟังดูดัดจริตและเป็นทางการเกินไป แต่ดิฉันว่า มันเหมาะสมที่สุดและสุภาพที่สุดแล้วที่จะเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 สำหรับผู้หญิงที่ใช้ในการติดต่อการงานกับผู้คนทั่วไปที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

ดูตาม้าตาเรือก่อนนับญาติใคร

จากประสบการณ์ที่ขุ่นเคืองดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องของดิฉันเมื่อครั้งโดนเรียกว่า “น้อง” ในขณะโทรศัพท์ติดต่อจองโรงแรมที่ต่างจังหวัดโรงแรมหนึ่ง เดาว่าเสียงดิฉันเด็กกว่าหน้า แต่เอ…นี่หล่อนเป็นพนักงานของโรงแรมควรเรียกแขกที่จะจองโรงแรมว่า “คุณ หรือ “พี่” ถ้าจะตีซี้กันจะเหมาะกว่าจริงมั๊ย? ดิฉันถามชื่อคนรับโทรศัพท์วันนั้นไว้

เมื่อเดินทางไปถึงพบว่า โรงแรมนี้ไม่ใช่โรงแรมภูธรประจำจังหวัดอย่างที่คิดเลยนะคุณ ภายในล็อบบี้มีการตกแต่งประดับประดาด้วยปูนปั้น และกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมยุโรป งานศิลป์ที่ผนังข้างฝาได้ถูกเลือกสรรอย่างมีรสนิยมอย่างดีทีเดียว ในขณะรอเช็คอิน ดิฉันรีบถามหาพนักงานคนที่รับโทรศัพท์ในวันนั้น ปรากฏว่า เธอคือคนที่เคาเตอร์นั่นแหละ แต่…เธอไม่ใช่พนักงานค่ะ เธอเป็นเจ้าของโรงแรมค่ะคุณขา! ดูเหมือนเธอจะไม่ยอมหยุดเรียกดิฉันว่า “น้อง” แม้เห็นตัวเป็นๆ กันแล้วก็จริง ดิฉันไม่ยอมให้ความขุ่นมัวอยู่ในใจนานๆ เสียสุขภาพจิตเพราะดูจากหน้าตาเธอไม่น่าจะแก่กว่า จึงยอมเสียมารยาทถามอายุเธอไป ปรากฏว่าเราอายุเท่ากันค่ะ จะคิดให้บวกคือเธอชมกันว่าหน้าเด็ก แต่นี่เป็นการติดต่อกันฉันธุรกิจระหว่างโรงแรมกับแขกผู้มาพัก มานับญาติเรียกกันว่า “น้องๆๆๆ” ไม่ขาดปากแบบนี้ดิฉันว่า มันไม่สมควรและไม่เป็นมืออาชีพ!!!

ด้วยเพราะภาษาไทยไม่ได้มีแค่ I กับ You การเลือกบุรุษสรรพนาม (Personal Pronoun) จึงควรให้เหมาะสมกับบทบาท สมเพศ สมวัย ถูกใจผู้ฟัง ใช้เป็นยาหอมซ่อนศิลปะในการสื่อสารให้กับการสนทนาให้ระรื่นหู นำไปสู่ประตูความสำเร็จในการเจรจาต่อรองใดๆ เลือกใช้กันให้เป็นกันนะคะ เพราะ ปากเป็นเอก เสกเสน่ห์ให้ตัวเองได้เสมอ

เพราะเงินนั้นไม่สำคัญฉะนี้

เมื่อวันก่อนดิฉันเดินผ่านไปเห็นสาวน้อยน้องนางบ้านนาหน้าตาดีคนหนึ่ง ยืนจ้องป้ายประกาศรับสมัครงานแปะไว้ที่หน้าห้องแถว “รับเด็กล้างจาน 1 ตำแหน่ง” ที่ให้ค่าตอบแทนต่ำมาก ชนิดซื้อรองเท้าสวยๆ ซักคู่ยังแทบไม่ได้เลย เธอจดจ่ออยู่กับการจดเบอร์โทรศัพท์ติดต่ออย่างตั้งอกตั้งใจเหมือนอยากจะได้งานนี้เป็นอย่างมาก ดิฉันแอบนึกสงสัย….

”ล้างจานได้เงินแค่เนี้ยนี่อ่ะนะ จะพอกินมั๊ยหนูเอ๊ยยย?”

คนตีค่าของเงินที่ตรงไหน?

ถ้าจะให้ดิฉันเดา…คงตีราคาตามต้นทุนชีวิตของพวกเขาในแต่ละคนต่อหน่วยเวลา บ้านเช่า ข้าวซื้อ ไหนจะค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอินเตอร์เน็ต ยิ่งพวกสาว High Maintenance ค่าดูแลรักษาสูงทั้งหลาย สระผมเองไม่เป็น ทำเล็บเองไม่เป็น วิ่งตาม Trend ใครมีอะไรมีด้วย ใครใช้อะไรใช้ด้วย เอาตัวอิง Brand เพื่อสร้าง Identity ให้ตัวเอง กลุ่มสาวพวกนี้ “เงิน” จะมีค่ากับพวกเธอมาก เห็นตัวอย่างมาหลากหลาย บางคนมีหน้าที่การงานและตำแหน่งดี ได้เงินเดือนสูงๆ คอยรักษาไลฟ์สไตล์ในรูปแบบ Roof Top ที่พวกเธอชอบ จะมีผู้หญิงส่วนใหญ่ในระดับกลางถูกกดดันอยู่ในระหว่างสังคมบนที่อยากจะเป็น และ สังคมล่างที่วิ่งหนี พวกเธอเป็นสาวออฟฟิศธรรมดาๆ แต่ทนต้านแรงอิทธิพลลัทธิ “Consumptionism” ในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalisation) ไว้ไม่ได้ เธอจึงดูเหมือนจะพยายามโยนลูกบอลสามสี่ลูกขี้นบนอากาศ รับลูกนี้ โยนลูกนั้น อย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อตอบสนองความอยากทางด้านวัตถุ โดยหวังว่าตนนั้นจะเก่งพอที่จะไม่พลาดทำลูกบอลใดลูกหนึ่งตกพื้น

พอนึกย้อนกลับมาถึงน้องนางบ้านนาคนนั้น เงินจากงานล้างจานที่เธอดูเหมือนกระตือรืนร้นอยากจะได้ เพียงแค่พออยู่พอใช้ (งานนี้กินฟรีอยู่ฟรีตามป้ายที่บอกค่ะ) แถมอาจจะพอมีเหลือส่งกลับไปเลี้ยงพ่อแม่ที่บ้านนอกได้อีกเสียด้วยซ้ำ ดิฉันมันพวกชอบคิดต่างและมองหาสิ่งดีๆ ในโอกาสเสมอ จึงคิดไปว่า ทำไมเราไม่มองไปที่คุณค่าของงานที่ได้ทำ?

ค่าของ “งาน”

ไม่แปลกหากปกติชนคนทั่วไปจะคิดว่า “งานคือเงิน…เงินคืองานบันดาลสุข” แต่จะมีใครบ้างที่มองมุมกลับและคิดว่า “งาน” คือ แต้มคะแนนที่เราสะสมในเกมชีวิตชั่วชีวิต บางครั้งได้เป็นเงินไปแลกข้าวกินได้ บ้างเอาไปช่วยเหลือเกื้อกูลคนในครอบครัว บ้างเป็นเหรียญแห่งความอิ่มเอมใจที่ได้ทำ บ้างเป็นสายสะพายแห่งความท้าทาย งานบางงานดูเหมือนชั้นต่ำให้ค่าตอบแทนห่วยๆ เหมือนงานล้างจ้างที่กำลังพูดถึง แต่นั่นอาจเป็นคะแนนความกตัญญูของเด็กหญิงภูธรคนหนึ่งที่เข้ากรุงมุ่งมาหาโอกาสชีวิต เพื่อแบ่งปันจุนเจือให้ครอบครัวของเธอ

อีกมุมกลับ…ดิฉันได้ยินเพื่อนสาวบางคนได้เงินเดือนหลักแสน แต่ไม่มีความสุขกับงานที่เธอทำ คอยวิ่งมองหางานใหม่ที่ตำแหน่งดีกว่า จ่ายมากกว่า ที่นู่นที่นี่ เพื่อเธอจะสามารถนำเงินที่ได้นั้นมาจ่ายค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จ่ายค่าบัตรเครดิต ถอยกระเป๋ารองเท้าใหม่ทุกเดือน กินหรูทุกมื้อ งานค่าตอบแทนสูงที่เธอกำลังทำอยู่ดูเหมือนยังไม่มีค่าพอในสายตา

เมื่องานไม่ใช่เงิน เงินไม่ใช่งานเสมอไป

คุณค่า (Values) สำคัญๆ ในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล ที่จะเลือกเรียงลำดับก่อนหลังตามที่ตนให้ความสำคัญ ดิฉันเคยถามตัวเองว่า คุณค่าที่สำคัญที่สุดในการมีชีวิตอยู่ของเราคืออะไร? คำตอบคือ “อิสรภาพ” อิสระเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิต ในการเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ในการที่จะทำตามใจปรารถนา ซึ่งคำตอบในใจของแต่ละคนล้วนต่างกัน การนำเอาคุณค่าบางอย่างที่สำคัญไปให้เงินตัดสินเพียงอย่างเดียว จะทำให้เราตกเป็นทาสของเงินตราไปตลอดชีวิต หาได้เท่าไหร่ดูเหมือนจะไม่พอ เพราะความต้องการ อยากนั่นอยากนี่มีไม่สิ้นสุด

ใครจะรู้บ้างว่า สมัยโบราณเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว มนุษย์เราเคยใช้ “ขี้ค้างคาว” (Bat Guano) แทนเงินในการแลกเปลี่ยนซื้อสินค้ามาก่อน เพราะ ขี้ค้างคาวสมัยนั้นใช้เป็นปุ๋ยในการเกษตรได้เป็นอย่างดีเยี่ยม ขี้ค้างคาวจึงเคยมีค่าเป็นเงินตรากับมนุษยโลกเพราะคุณประโยชน์ที่มีให้ เงินค่าจ้างอันต่ำต้อยน้อยค่าอาจดูไร้ความหมายสำหรับคนต้นทุนชีวิตสูง เพราะความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ยืนแกว่งแขวนตัวอยู่ในจุดเสี่ยง แต่มันอาจเป็น Token สำคัญสำหรับใครบางคนในอีกความหมายหนึ่ง ที่ดำรงชีวิตเรียบง่าย พอเพียง ที่คนไม่รู้จักพออาจจะไม่เข้าใจ

ความสัมพันธ์ฉันท์ตัวเอง

นั่งงม นอนงม จมกองเอกสารติดต่อกันมาหลายวัน อยากปั่นให้งานเสร็จไวๆ เพราะใจดิฉันมันลอยไปเกาะรอกนอก รอกใน ในท้องทะเลอันดามันเสียแล้ว ตั้งใจว่าหยุดพักผ่อนคราวนี้จะหลุดแผ่นดินใหญ่หายวับไปในน่านน้ำสีฟ้าซักพัก ก่อนกองทัพนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจะเริ่มหลั่งไหลเขามาในเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

นั่งหันหลัง มองไปที่ทะเลสีฟ้า

มนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ อย่างดิฉันไม่ขอยอมเป็นมนุษย์ไร้คุณภาพชีวิต ต้องขอกินดี อยู่ดี เที่ยวดี มีความสุข กินดีของดิฉันไม่ใช่การสรรหาอาหารหรูกินนอกบ้าน แต่อาจเป็นหัวดอกกระหล่ำนึ่งโรยเกลือกินกับน้ำเต้าหู้ อยู่ดีของดิฉันไม่ใช่มีบ้านหลังโอ่อ่า แต่ต้องเป็นบ้านที่สะอาดและมีอากาศถ่ายเท เที่ยวดีของดิฉันไม่ใช่ไปต่างประเทศ แต่เป็นที่ไหนก็ได้ที่สงบ และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ

เวลาคุณภาพให้ตนเอง

เพราะ Mind Body & Soul ของเรานั้นต้องทำงานร่วมกันและส่งผลกระทบไปถึงกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงต้องหมั่นคอยดูแลรักษาความสมดุลย์ระหว่าง 3 องค์ประกอบหลักคือ ร่างกาย จิตใจ และ จิตวิญญาณ ให้ได้ดีที่สุด ช่วงจังหวะชีวิตในแต่ละวัน ภาระกิจหน้าที่และความรับผิดชอบ อาจทำให้คานที่ควรจะสมดุลย์โอนเอียงไปบ้าง แต่สำนึกในชั่วขณะเวลาของเราจะดึงเรากลับมา ว่าแล้ว…ดิฉันก็ปล่อยมวยผมที่มัดอยู่บนหัวเหมือนรังนก สะบัดสยายออกเป็นอิสระ เป็นการบอกตัวเองเป็นนัยว่า “พอแล้ววันนี้” ลุกขึ้นยืน บิดเอวซ้ายทีขวาที ย่อเข่า โก่งก้นที่นั่งบนเก้าอี้เสียนานจนชา เอี้ยวตัวแตะตาตุ่มซ้ายย้ายมาตาตุ่มขวา “ME time? Yes!!!” คว้าผ้าขนหนูทันใด จัดชุดวันเกิดให้ตัวเอง เปิดน้ำอุ่นๆ คลอเสียงเพลงของ Antonio Zambujo นักร้องหนุ่มหน้าเข้มชาว Portuguese ที่ดิฉันชอบหลับตาพริ้มนึกถึงทุกครั้งที่ยืนอยู่ใต้ฝักบัว (เชื่อว่ามีสาวคิดซุกซนแบบนี้เหมือนๆ กันบ้างล่ะนาาา)

ME time นั้นสำคัญ

ว่ากันถึงเรื่องของ “ME time” หรือการให้เวลากับตัวเองนั้น ดิฉันให้ความสำคัญและลงทุนกับเรื่องนี่มาก ชีวิตเราในยามตื่นวุ่นวายอยู่กับเรื่องของคนอื่นนอกบ้านมามากพอ เมื่อเวลาที่พันธนาการเหล่านั้นสิ้นสุดลงด้วยข้อกำหนด ใครหน้าไหนก็ลากดิฉันไปไม่ได้ค่ะ (นอกจาก Mr. Zambujo) เวลาคุณภาพนี้เป็นของขวัญที่ล้ำค่าที่เราควรมอบให้แก่ตัวเองเมื่อมีโอกาส บางคนอาจชอบออกไปนอนให้คนนอกบ้านหามแห่ นอนกางแข้งกางขาสบายๆ ให้นวด แต่สำหรับดิฉันการเพียงได้นั่งทำเล็บ ขัดขี้ไคล พอกหน้าด้วยตัวเอง ใส่ใจลงรายละเอียดกับตัวเอง และเห็นตัวเองชัดๆ ไม่ว่าจะเป็นขี้เล็บเอย จุดดำๆ บนใบหน้าที่บ่งบอกการทำงานหักโหมของเม็ด Melanin ใต้ผิวทั้งหลาย เหล่า “Laugh Lines” หรือหลักฐานแห่งความสุขและเสียงหัวเราะที่ปรากฏตามร่องแก้ม หางตา ที่เราต่าง

พาเรียกกันซะเสียหายว่า “ตีนกาและดงเหยี่ยว” เวลาเห็นกันจะๆ มันทำให้เกิด “ความสัมพันธ์ฉันท์ตัวเอง” ที่มีคุณค่ามากเกินอธิบายนะคุณนะ ดิฉันจึงยินดีลงทุนกับทุกเรื่องของ กระบวนการ “รักตัวเอง” ดูแลตัวเองให้ดูดีและรู้สึกดีกับตัวเองที่สุดเสมอ แสงเทียน ในมุมสลัว

เมื่อเปิดก๊อกน้ำพาให้นึกถึงสบู่ที่แอบพากลับไทยมาด้วยครั้งไปทัวร์ยุโรปเมื่อปีก่อน คุณเอ๋ยยย…ของใช้ในโรงแรมที่ฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู ครีมนวด ที่จัดวางไว้ให้ล้วนดีเลิศประเสริฐศรี มันเป็นรายละเอียดของการให้บริการที่สำคัญยิ่งที่ทำให้แขกผู้มาเยือนประทับใจ (จนอดใจแอบขอเอากลับบ้านมาเป็นของที่ระลึกไม่ได้) ที่ขาดไม่ได้เลยในกระบวนการ “รักตัวเอง” ของดิฉันคือ การบำบัดด้วยกลิ่น (Aromatherapy) จะเป็นเทียนหอม หรือ Essential Oil กลิ่นแมกไม้ สมุนไพรนานา หยดใส่ Burner หรือแบบชนิดมี Tea Light จุดให้แสงสลัวอยู่ใต้ Wax Melt Warmer งานดินเผาฝีมือคนไทยจาก OTOP ได้หมด สดชื่นหมด…ไม่เกี่ยงค่ะ

แวะชื่นชมงานศิลปะ

หลังดื่มด่ำเสร็จสรรพตามจินตนาการสีดาลงสรงจนสาสมแล้ว การออกไปเดินเล่นดูภาพวาดสวยๆ แปลกๆ แนว Abstract ใน Art Gallery และตระเวณดูตึกรามบ้านช่อง หน้าจั่ว หลังคา ประตูหน้าต่าง แนว Art Nouveou ร่วมสมัย ไปเพลินๆ ในยามบ่ายแดดร่มลมตก เป็นการออกกำลังและผ่อนคลายที่ไม่เลวที่เดียว จุดหมายปลายทางต่อไป…ถนนพระอาทิตย์ที่โปรดปรานในการแวะหาจิบ Cocktail เก๋ๆ ซักแก้วสองแก้ว แถมฝึกภาษาอังกฤษทักทายนักท่องเที่ยวนั่งข้างๆ ตามอัธยาศัย

“To have a positive state of mind, you need to be well in your body and happy in the way you interact with the world,” เป็นคำกล่าวของศาสตราจารย์ Bernard Hickie แห่งมหาวิทยาลัย Sydney ซึ่งดิฉันเทคะแนนให้และเห็นด้วยเป็นที่สุด ภาวะจิตใจที่ดีและเป็นบวกนั้น ย่อมต้องมาจากสุขภาพร่างกายที่ได้รับการดูแลที่ดี และเลือกโต้ตอบและปฏิสันถารกับโลกนี้ในวิถีทางของเราอย่างมีความสุขที่สุด